ยังคงอยู่กับหลักการนวัตกร ในส่วนของ “Solution” หรือ”การค้นหาทางออก”
หลังจากที่เราได้รู้วิธีการ Brainstorm เพื่อให้ได้ไอเดียมาแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะนำไอเดียมาใช้งานต่อ
โดยลำดับต่อมานั่นก็คือ การทำให้ไอเดียนั้น ออกมาสู่โลกจริง ไม่ใช่อยู่แค่ในกระดาษ หรือ โพสอิท
ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่า Prototype หรือ ตัวต้นแบบ นั่นเอง
ตามหลักการนวัตกรแล้ว
การสร้างตัวต้นแบบนั้นมีอยู่ 4 แบบ
1.ตัวต้นแบบทางทฤษฎี (Theoretical Prototype)
2.ตัวต้นแบบเสมือนจริง (Virtual Prototype)
3.ตัวต้นแบบที่สามารถใช้งานได้ (Minimum Viable Product: MVP)
4.ตัวต้นแบบที่น่าหลงใหล (Minimum Awesome Product: MAP)
1.ตัวต้นแบบทางทฤษฎี (Theoretical Prototype)
เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาในหัว แต่ไม่เจาะจงในรายละเอียด และนำไปทดสอบกับลูกค้า ซึ่งวิธีนี้สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และประหยัด เช่น คุณสามารถตรวจสอบสภาพบ้านได้ทันทีโดยผ่านการใช้สมาร์ทโฟนในมือคุณ ซึ่งสามารถพูดออกมาได้ แต่ลูกค้าอาจจะยังไม่เห็นภาพนัก
2.ตัวต้นแบบเสมือนจริง (Virtual Prototype)
เป็นการทำให้ตัวต้นแบบทางทฤษฎี มีรายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยใช้ซอฟต์แวร์ หรือเครื่องมือต่างๆ เช่น Powerpoint, Sketch, Mock up, Story board เป็นต้น โดยระหว่างที่ทดสอบกับลูกค้านั้น เราจะต้องคอยสังเกตปฏิกิริยาลูกค้า เพื่อดูอารมณ์ ความรู้สึกตื่นเต้น กับตัวต้นแบบหรือไม่
3.ตัวต้นแบบที่สามารถใช้งานได้ (Minimum Viable Product: MVP)
เป็นการทำให้ไอเดีย หรือวิธีแก้ปัญหานั้นสามารถโต้ตอบกับลูกค้าได้จริง แต่ยังไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่สมบูรณ์ ซึ่งวิธีนี้ทำให้เราทราบได้ว่าวิธีแก้ปัญหาของเรานั้นมียอดการใช้งานคร่าวๆ เท่าใด (Traction) เล่นนานแค่ไหน หากพัฒนาจริงแล้วลูกค้าจะรู้สึกอย่างไร ยอมจ่ายเงินเพื่อวิธีแก้ปัญหานี้เท่าใด การใช้งานแบบไหนที่ตอบโจทย์ลูกค้า แบบไหนไม่ตอบโจทย์
4.ตัวต้นแบบที่น่าหลงใหล (Minimum Awesome Product: MAP)
เป็นการสร้างตัวต้นแบบที่ได้จากการพัฒนามาจาก MVP จากการปรับตามเสียงตอบรับ (Feedback) ของลูกค้า เพื่อสร้างสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะ ความต้องการที่ยังไม่ถูกค้นพบ (Unmet Need) ที่ลูกค้ายังไม่รู้ตัวว่าต้องการสิ่งนี้ สร้างความอัศจรรย์ใจแก่ลูกค้า ซึ่งตัวต้นแบบแบบนี้มีแนวโน้มที่ลูกค้าจะจ่ายเงินมากที่สุด ยกตัวอย่าง เคสสตีฟ จอบส์ ที่ได้สร้าง MAP แก่โลกใบนี้ นั่นคือ IPHONE ที่ลูกค้าไม่เคยนึกมาก่อนว่า เขาต้องการมือถือที่ไม่มีปุ่มกด หรือเขาต้องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ผ่านโทรศัพท์
โดยทั่วไปแล้ว การสร้างตัวต้นแบบนั่นไม่ได้เจาะจงว่าคุณต้องสร้างตัวต้นแบบแบบไหน ใน 4 แบบ ที่เราได้นำเสนอไป แต่หลักๆ คือการทำให้ไอเดียนั้นออกมาได้รวดเร็วที่สุด ถูกที่สุด และใช้งานได้เสมือนของจริงที่สุด เพื่อที่จะนำไป”Test” หรือ”ทดสอบ”สมมติฐาน ของเรา เกี่ยวกับความต้องการของลูกค้า ต่อไป
และอย่าลืมว่า “ตัวต้นแบบนั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทดสอบสมมติฐาน ไม่ใช่การสร้างผลิตภัณฑ์” นะครับ ไม่จำเป็นต้องไปหลงรักตัวต้นแบบนั้นมาก ถ้าคุณลังเลที่จะทิ้งตัวต้นแบบนั้น นั่นแสดงว่าคุณช้า!! เกินไปแล้วนะครับ