เชื่อว่าหลายๆคน ที่ทำงานอยู่ในแผนกใดก็ตาม มักจะเจอสถานการณ์ที่เกี่ยวกับการคิดอะไรใหม่ๆ แผนการตลาดใหม่ การพัฒนากระบวนการภายในองค์กร และที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดในยุค Digital Disruption แบบนี้ คงหนีไม่พ้น”การสร้างนวัตกรรมในองค์กร” แต่ถึงอย่างนั้นแล้ว ทำไมการสร้างนวัตกรรมในองค์กรนั้น เป็นเรื่องยาก
วันนี้ Innovation Solution อาสามาตอบ ด้วย 3 เหตุผลง่ายๆ มาลุยกันเล้ย
1.โดยทั่วไปแล้ว บริษัทส่วนมากมีวัตถุประสงค์ไว้เพื่อดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ ตามกิจกรรมหลักในโมเดลธุรกิจ ไม่ใช่สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ จากโอกาสใหม่ๆ ทำให้พลาดการเติบโตใหม่ๆ
2.การปรับเปลี่ยนเป็นเรื่องยาก
ในโมเดลธุรกิจนั้น หากเราปรับเปลี่ยนช่องใดช่องหนึ่งแล้ว จะส่งผลต่อช่องอื่นๆด้วย เช่น หากเปลี่ยน Value proposition หรือคุณค่าที่เราจะให้แก่ลูกค้าเดิม จะส่งผลให้กิจกรรมหลักที่จะก่อให้เกิดคุณค่านั้นเปลี่ยนไปด้วย ทำให้กระทบต่อองค์กรในภาพรวม ดังนั้นการขยับเขยื้อนภายในองค์กรจึงเป็นไปได้ยาก ตัวอย่างเช่น คุณเป็นบริษัทขายกล้องดิจิทัล หากคุณต้องการต้องการปรับเปลี่ยนคุณค่า โดยการให้ลูกค้าไม่ต้องรู้สึกลำบากเวลาแบกอุปกรณ์กล้องไปเที่ยว คุณอาจจะมีแนวโน้มที่จะต้องเลิกผลิตอุปกรณ์บางส่วนของกล้อง หรือมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล บริษัทจึงเลือกที่จะพักการตัดสินใจครั้งนี้ไว้ ทำให้นวัตกรรมไม่เกิดนั่นเอง
3.บริษัทใหญ่ๆ นั้นชอบแสดงพลังมากกว่า การสร้างพลัง ด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป อาทิเช่น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีส่วนได้เสีย, เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีในสังคม, เพื่อสร้างมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้น เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าองค์กรหลายๆองค์กรเลือกที่จะใช้โมเดลธุรกิจแบบเดิม กับกลุ่มลูกค้าเดิมๆ ช่องทางการจัดจำหน่ายเดิมๆ เพราะคิดว่าการปรับเปลี่ยนนั้นเป็นเรื่องใหญ่และส่งผลกระทบต่อองค์กรในภาพรวม ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุให้หลายๆองค์กร ต้องปิดตัวลงไป ยกตัวอย่างเช่น Blockbuster นั้นเลือกที่จะเก็บค่าเช่าจากลูกค้า จนทำให้ Netflix เห็นช่องว่างและเข้ามา disrupt Blockbuster ด้วยการใช้บริการส่งวิดีโอถึงบ้านแทน
เพราะฉะนั้นอย่ากลัวที่จะสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ภายในองค์กร และนั่นคือหน้าที่ของ”คน”ในองค์กร ที่จะเป็นผู้ริเริ่มการสร้างนวัตกรรมขึ้น เพราะถ้าหากขาดคนไปแล้ว องค์กรก็จะเป็นแค่สถาบันๆ หนึ่ง ที่ไม่อาจขยับเขยื้อนอะไรได้ โดยอาจจะเริ่มจากการสร้างศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ทีมนวัตกรรมขึ้นในองค์กร เพื่อมองหาโอกาสใหม่ ในการทำธุรกิจ แยกตัวเป็นหน่วยธุรกิจใหม่ (Business Unit) ขึ้นมาในองค์กรก่อน โดยค่อยๆ เริ่มทำเป็นส่วนเล็กๆในองค์กร
สุดท้ายนี้ ก็อยากฝากประโยคสั้นๆ ไว้อย่างเคย
“คอนเซปท์”ทำลายเพื่อสร้างสรรค์” มักจะเกิดขึ้นเสมอเวลาทำนวัตกรรม"