นวัตกรรม

ช้างลุยโลก

เมื่อ SCG เข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้น ผมเชื่อว่า ระดับการลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมของบริษัท คงไม่ได้หยุดอยู่แค่ 4,000 ล้านบาท

ผมมีโอกาสได้ฟังคุณกานต์ ตระกูลฮุน ซีอีโอของ SCG หรือชื่อแต่เดิมมาเรียกว่า เครือซิเมนต์ไทย หรือก่อนหน้านั้นอีกนิยมเรียกกันว่า ปูนใหญ่ มาเล่าให้ฟังถึงวิสัยทัศน์ และการก้าวกระโดดไปทำนวัตกรรมของบริษัทอายุ 100 ปี ด้วยความสบายใจอย่างยิ่ง

บริษัทไทยแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ในปัจจุบันนี้มีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ที่มีอายุการทำธุรกิจยืนยาวได้นานกว่าร้อยปี ที่สำคัญยิ่งมีบริษัทไทยแท้ที่อายุมากเท่ากันนี้น้อยยิ่งกว่าน้อยเสียอีกที่จะบุกไปยังตลาดในอาเซียนอย่างแข็งขัน หรือแม้กระทั่งไปชิมลางในตลาดโลกจริงๆ

SCG วันนี้ไม่ได้หวังที่จะทำนวัตกรรมแค่ในอาเซียนแล้ว ผมได้ยินวิสัยทัศน์ของคุณกานต์แล้ว ก็เชื่อได้ว่า วันนี้อาเซียนยังอาจเล็กเกินไปสำหรับบริษัท

ที่คิดอย่างนี้ ผมเชื่อว่าไม่ใช่เพราะบริษัทร่ำรวยล้นฟ้า หรือยิ่งใหญ่มากจนมองอาเซียนเป็นเรื่องขี้ผง แต่ผมคิดว่า เพราะบริษัทกล้ามุ่งไปข้างหน้าด้วยการทำนวัตกรรมต่างหาก จึงยิ่งต้องมองให้ไกลออกไปในตลาดโลก

เพราะทุกวันนี้ นวัตกรรมไม่มีขอบเขตพรมแดน ยิ่งเป็นบริษัทที่ขายของเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ยิ่งต้องรู้ดีว่า วันนี้นอกบ้านเรา และนอกอาเซียนนั้น การแข่งขันเรื่องเทคโนโลยีมีมากมายมหาศาลเพียงไหน

ผมรู้มานานแล้วว่า SCG ลงทุนทำวิจัยและพัฒนามากถึงปีละ 1,000 ล้านบาท จำนวนนี้มากกว่าหน่วยงานวิจัยภาครัฐหลายหน่วยงานมารวมกันเสียอีก สะท้อนให้เห็นว่า หากบริษัทต้องการก้าวไปข้างหน้าให้มั่นคงแล้ว การลงทุนและการอัดฉีดทรัพยากรในการทำวิจัยและพัฒนา เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมองทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ในอดีตนั้น ผู้บริหารส่วนใหญ่มักจะมองว่า การวิจัยและพัฒนาเป็นต้นทุนจม คือ ยิ่งจ่าย ยิ่งมองไม่เห็นอะไร เพราะไม่สามารถเชื่อมโยงผลประโยชน์จากงานวิจัย ไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ สินค้า และบริการ ที่จะสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทได้

แต่ SCG ชี้เป้าความสัมพันธ์ระหว่างการลงทุนวิจัย กับการเติบโตของรายได้ที่ชัดเจนมาก

คือ ยิ่งลงทุนวิจัย รายได้ยิ่งเติบโต

เพราะการวิจัยทั้งหมด ทำไปอย่างมีจุดหมายตรงที่การสร้างผลิตภัณฑ์ สินค้า และบริการใหม่ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง หรือเป็นนวัตกรรมที่มีราคาแพงกว่าการขายเพียงสินค้าโภคภัณฑ์อย่างปูน เม็ดพลาสติก กระเบื้อง ฯลฯ ในอดีต

และเมื่อทำนวัตกรรม ก็ต้องมองให้ไกลกว่าตลาดในประเทศ แล้วเมื่อออกนอกประเทศไปอาเซียนได้แล้ว ไฉนต้องหยุดรั้งทัพรอไว้แค่ภูมิภาคด้วยล่ะ คิดอย่างนี้แล้วก็จะเข้าใจว่า ทำไมบริษัทร้อยปีอย่าง SCG วันนี้จึงต้องมุ่งไปทำการค้าขายแข่งกับยักษ์ใหญ่อื่นๆ ในโลก

การแข่งขันที่เตรียมความพร้อมมาอย่างดี มีแต่จะทำให้แข็งแกร่งมากขึ้น เพราะการต่อสู้กันในเชิงนวัตกรรม จะเร่งระดับของการพัฒนาทางธุรกิจ สร้างหน่วยงานใหม่ สร้างเครือข่ายใหม่ เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อันเป็นนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

คุณกานต์บอกว่า ในไม่ช้าบริษัทจะลงทุนวิจัยและพัฒนาสูงถึง 4,000 ล้านบาทต่อปี จะว่าไปนี่เป็นเงินที่มากกว่างบประมาณประจำปีของหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของรัฐบาลด้วยซ้ำ

ซึ่งความจริงแล้วควรเป็นอย่างนี้มานานแล้ว เพราะในประเทศที่มีพื้นฐานเทคโนโลยีเข้มข้นนั้น เอกชนจะนำรัฐในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาไปอย่างน้อย 2-3 เท่าตัว ไม่อย่างนั้นธุรกิจจะสร้างสรรค์นวัตกรรมไปแข่งขันกับคนอื่นได้อย่างไร

ผมค่อนข้างดีใจในแนวโน้มที่ดีของภาคเอกชนไทยในเรื่องนี้ แม้ว่าต่อให้ลงทุนถึง 4,000 ล้านบาท ก็ยังเทียบเท่ากับแค่ไม่ถึง 1% ของยอดขายทั้งบริษัทก็ตาม การมีแนวโน้มที่ชัดเจน ย่อมพิสูจน์ว่าบริษัทจะสามารถเดินหน้าเติบโตต่อไปได้อย่างแข็งแกร่ง

ผมเคยลองศึกษาดูว่า สัดส่วนการลงทุนเพื่อสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีของบริษัทนั้นควรเป็นเท่าไหร่โดยเฉลี่ยกันแน่

คำตอบนั้นไม่แน่ไม่นอน ขึ้นอยู่กับประเภทของอุตสาหกรรม ต่ำสุดก็ประมาณ 2-3% ของรายรับ และสูงสุดอาจขึ้นไปถึง 70% ของรายรับทีเดียว

ค่ากลางที่อาจใช้ตอบโจทย์ได้ก็คือประมาณ 5% ของรายรับ ที่ควรใช้จ่ายเพื่อลงทุนสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตัวเลข 5% นี้ออกจะเหมาะสมกับบริษัทขนาดใหญ่ที่ก่อตั้งมาเป็นเวลานานจนมั่นคงแล้ว

ในขณะที่ถ้าเป็นบริษัทขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอีนั้น การลงทุนเพื่อนวัตกรรมอาจพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 50% ของรายรับได้ไม่ยาก สาเหตุที่เป็นอย่างนี้เพราะ บริษัทเกิดใหม่ หรือบริษัทขนาดเล็กนั้น มักตกอยู่ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด ทำให้ต้องเร่งสร้างนวัตกรรมเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด เพื่อความอยู่รอด ในขณะที่เมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่แล้ว การใช้จ่ายเงินเป็นไปเพื่อพัฒนาพื้นฐาน สร้างสะสมความรู้ และใช้ในการพัฒนานวัตกรรมประยุกต์ที่สามารถนำออกสู่ตลาดได้รวดเร็วกว่า เพราะมีฐานการพัฒนาสินค้าและบริการที่สั่งสมมานาน

นอกจากนี้ แม้อัตราส่วนจะน้อยแต่เม็ดเงินนั้นย่อมมากกว่าหลายเท่า ตรงกันข้ามกับบริษัทเล็กที่แม้ดูเหมือนจะลงทุนเยอะ แต่เม็ดเงินจริง อาจไม่มากอย่างที่คิด

ดังนั้น ค่าเฉลี่ยกลางที่ 5% จึงดูเหมือนจะเป็นตัวเลขพอใช้ได้ สุดแต่ความพร้อมของบริษัท

ส่วน SCG นั้น วันหนึ่งถ้าหากมีการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น หรือเมื่อบริษัทต้องเข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้น ผมเชื่อว่า ระดับการลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมของบริษัท คงไม่ได้หยุดอยู่แค่ 4,000 ล้านบาท เพราะเมื่อบริษัทยิ่งมียอดขายเติบโต เม็ดเงินที่ใช้ในการวิจัยน่าที่จะเติบโตตามไปด้วย

อดีตแต่เดิมมานั้น ช้างไทยอาศัยอยู่ในป่า วันนี้ช้างของเรากำลังจะลุยโลก ออกไปตั้งรกรากและฐานกำลังการผลิตในประเทศต่างๆ ไม่ใช่แค่ในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง แต่ยังไปไกลถึงยุโรปแล้ว เช่น การตั้งโรงงาน Cotto ที่อิตาลี เป็นต้น

หากเป็นเมื่อสิบปีก่อน ใครจะเคยคิดว่า บริษัทที่ทำผลิตภัณฑ์กระเบื้อง สุขภัณฑ์ของไทย จะหาญไปทำการค้าแข่งในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น ศูนย์กลางการออกแบบของโลก

แต่วันนี้ ช้างลุยไปแล้ว และผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า การนำในคราวนี้จะเกิดประโยชน์กับบริษัทในห่วงโซ่การผลิตสัญชาติไทยอื่นๆ อีกตามไปด้วย เหมือนกับที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของต่างชาติ เวลามาลงทุนในบ้านเรา เขาก็ลากเอาซัพพลายเชนของเขาตามมาด้วย

อนาคต จึงมีแต่ต้องคิดให้ใหญ่ และคิดให้ไกล เกินพรมแดนของประเทศและภูมิภาคเท่านั้น

เพราะนวัตกรรมเมื่อทำแล้ว ต้องไปให้สุดทางครับ

(1 Vote)

ติดต่อสมาคม

ติดต่อสมาคมนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา

ที่อยู่ : 163 อาคารรัชต์ภาคย์ ชั้น 6 ถนนสุขุมวิท ซอย 21 (อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110

โทรศัพท์ : 02-2580570-2

E-mail : service.ipa@gmail.com

Website : www.ipa.or.th